10.6 กับ Kernel แบบ 32 bits vs 64 bits กับเรื่องที่ไม่เขียนลงเว็บ
นี่เป็นเหตุผลที่ผมไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ลง macmuemai.com ครับ
- เรื่องนี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ user แบบบ้าน ๆ ทั่วไป
- ผมอยากให้เว็บแมคมือใหม่.คอม เป็นเว็บสำหรับผู้เริ่มต้นใช้งาน มีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานทั่วไปมากกว่าเรื่องเชิงลึกด้านพัฒนาโปรแกรม
- มีอะไรที่เป็นประโยชน์ และน่ารู้มากกว่าเรื่อง kernel 32 bits หรือ 64 bits บน 10.6 แยะครับ
เรื่อง 32 bits vs 64 bits ผมเคยเขียนยกตัวอย่างแบบบ้าน ๆ เอาไว้แล้ว ทีนี้ช่วงที่ 10.6 snow leopard ออกมา ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับ kernel ของ OS X ตัวใหม่นี้ว่ายังเป็น 32 bits อยู่ไม่ใช่ 64 bits แต่อย่างใด
เหตุผลง่าย ๆ เพราะว่า app และ ความต้องการของผู้ใช้ส่วนใหญ่ยังไปไม่ถึงตรงนั้นครับ และการที่จะเอาตรงนี้มาโฆษณาในตอนนี้ มันทำให้ดูไม่น่าสนใจ(ในความรู้สึกของผม) เพราะคนยังใช้งานไปไม่ถึง รังแต่จะสร้างความสับสนกันไปเปล่า ๆ เหมือนที่เป็นอยู่นี้ ที่เราเริ่มจะเห็นคนเขียน/หาข้อมูลเกี่ยวกับ kernel ของ OS X 10.6 กันเยอะขึ้น
แล้วก็มาตั้งข้อสังเกตอะไรกันไปต่าง ๆ นานา
รวมถึงบางคนไม่เข้าใจความหมายของการทำ benchmark หรือการเปรียบเทียบและค่าที่ได้ออกมา .. คิดเอาง่าย ๆ ว่าเยอะกว่า ย่อมดีกว่าเสมอ
เรื่องนี้ yes and no
การ benchmark นั้นทำเพื่อให้ทราบขีดจำกัดของ hardware/software ในการกระทำหนึ่ง ๆ ออกมาเป็นค่านิ่ง ทำให้เราทราบความแตกต่าง ทำนามธรรมให้เป็นรูปธรรมให้คนทั่วไปเห็นแล้วเข้าใจรับรู้ได้ง่าย ๆ ผ่านตัวเลขสักชุด
การ benchmark มีปัจจัยที่ทำการควบคุมให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริง การใช้งานปรกติ ผมไม่คิดว่าผู้ใช้จะไปถึงขีดจำกัดของ hardware/software ได้เร็วนัก เรื่องนี้เห็นง่าย ๆ เช่น
- เรื่องการพิมพ์งาน ที่ hardware/software พัฒนาเลยความต้องการของเราไปเยอะแล้ว เราก็ยังทำงานได้เร็วเท่าเดิม (หรือไม่เคยเจอใครที่ต้อง upgrade software เพราะโปรแกรม word processor ของเดิมพิมพ์จดหมายสมัครงานไม่ได้)
- เปิดหน้าเว็บด้วยความเร็วพอ ๆ กับของเดิม
- ดูหนังแล้วสนุกเหมือนเดิม..
หรือยกตัวอย่างบ้าน ๆ ให้เห็นภาพ
การ benchmark
- เอาโตโยต้า กับ เฟอรารี่ขึ้น dynotest วัดแรงม้าที่เครื่องทำได้
โลกแห่งความจริง
- รถโตโยต้า กับ เฟอรารี่ เอามาขับไปทำงานตอนเช้าในกทม... ก็มีโอกาสเข้างานสายเหมือนกันครับ :P
คิดว่าเรื่องนี้ไม่ต่างกับเรื่อง RAM หรือเรื่อง hardware/software ในแง่มุมอื่น ๆ ที่บางครั้ง(หรือว่าส่วนใหญ่)เมื่อผู้ใช้งานทราบข้อมูลตรงนี้ แต่ไม่เข้าใจเรื่องทางเทคนิค ก็ทำให้เกิดความสับสนกันไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นก็ได้
ผมคิดว่าเรื่อง Kernel นี้เป็นเรื่องผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทราบก็ได้ เหมือนกับเรื่อง Web ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่าจะเขียน HTML อย่างไร เราก็สามารถใช้งานเว็บได้อย่างสบายใจ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ที่ผู้ใช้อยากจะทราบเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ แต่ถ้าคุณเป็นมือโปร หรือทำอาชีพจริงจังที่มีการใช้ทรัพยากรเครื่องค่อนข้างสูง เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ควรจะทราบเอาไว้ ไม่ใช่เพื่อการเข้าใจว่า "เอ่อ เครื่องเราทำงานเร็วขึ้นกว่าตอนเป็น 32 bits นะ"
แต่น่าจะเป็นการเข้าใจเพื่อ "วางแผนในการทำงานระยะยาว" มากกว่าครับ